ฝังเข็ม กับการดูแลสุขภาพเชิงเวลเนส อีกหนึ่งทางเลือกของการรักษา
เมื่อพูดถึงการรักษาแพทย์แผนจีน สิ่งแรกที่ใครหลายคนนึกถึงคงหนีไม่พ้น ฝังเข็ม ถือเป็นทางเลือกนึงในการรักษาของผู้ป่วยที่ปลอดภัย แม้แต่องค์การอนามัยโลก (WHO ) ก็ยังให้การยอมรับ โดยเฉพาะกลุ่มโรคอาการปวดต่างๆ เช่น ปวดหัวไมเกรน ออฟฟิศซินโดรม นอนไม่หลับ อัมพฤกษ์ อัมพาต รวมถึงการฝังเข็มยังช่วยในการฟื้นฟูสุขภาพ และสร้างระบบภูมิคุ้มกันในการป้องกันโรค
การฝังเข็มคืออะไร
การฝังเข็ม (Acupuncture) คือ การรักษาชนิดนึงของแพทย์แผนจีน มีมา 2,000 กว่าปีแล้ว หลักๆ ของการฝังเข็มคือการจิ้มเข็มเข้าไปที่ตามเส้นลมปราณ เส้นลมปราณก็เป็นเส้นพลังงาน ภาษาจีนเรียกว่า “ชี่” ที่วิ่งอยู่ตามแนวร่างกาย ซึ่งเส้นลมปราณแต่ละเส้นก็จะรีเลทกับแต่ละธาตุ เพื่อที่จะปรับสมดุลของอวัยวะนั้นๆ หรือของธาตุนั้นๆ เพื่อให้อยู่ในสมดุลที่ดีขึ้น แต่ทีนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาวะร่างกายของแต่ละคน และอาการที่เป็นอยู่ของแต่ละคนด้วย
องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้การรับรองและระบุโรคที่สามารถรักษาได้ด้วยการฝังเข็ม รวมทั้งล่าสุดยังมีหลายงานวิจัยพบว่า โรคบางโรค เช่น กรดไหลย้อน ปวดหัว ปวดศีรษะไมเกรน การรักษาด้วยการฝังเข็มให้ผลการรักษาดีเทียบเท่าหรือมากกว่าการใช้ยาโดยปลอดภัย และไม่ต้องเสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากยาอีกด้วย
การฝังเข็มกับเวลเนสเกี่ยวข้องกันอย่างไร
Wellness คือ การดูแลสุขภาพ การป้องกันไม่ให้เกิดโรคก่อน หรือการฟื้นฟูสำหรับคนที่เกิดโรคแล้ว หรือใช้ในการรักษาควบคู่ Complementary กับการแพทย์ปัจจุบันที่คนไข้รักษาอยู่แล้ว ซึ่งการฝังเข็มสามารถใช้ร่วมกับเวลเนสได้สบาย ส่วนใหญ่คนที่เป็นโรคหรือคนที่อยากจะดูแลสุขภาพ บางทีตัวเราอาจจะมีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ อยู่แล้ว เช่น การนอนไม่หลับ ประจำเดือนผิดปกติ กลุ่มโรคเรื้อรังต่างๆ ไม่ว่าจะมีอาการเจ็บ อาการปวด หรือระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่สมดุล การฝังเข็มก็จะช่วยปรับสมดุลของธาตุต่างๆ ได้
ซึ่งหลักการฝังเข็มหรือแพทย์แผนจีนจะประกอบไปด้วย 5 ธาตุ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุทอง ธาตุน้ำ ธาตุไม้ และธาตุไฟ การฝังเข็มจะช่วยปรับสมดุลแร่ธาตุเหล่านี้ หรือช่วยเรื่องระบบภูมิคุ้มกัน เพราะมีจุดฝังเข็มหลายจุดที่ใช้ในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีงานวิจัยอ้างอิงเยอะพอสมควร หรือหลังๆ เรามีปัญหานอนไม่หลับก็มีจุดฝังเข็มหลายจุดที่สามารถช่วยให้การนอนหลับดีขึ้นได้
ฝังเข็มใช้รักษาโรคกลุ่มไหนได้บ้าง
- กลุ่มอาการปวดและโรคทางระบบกล้ามเนื้อ เช่น ออฟฟิศซินโดรม ปวดหลัง ปวดต้นคอ ปวดไหล่ ปวดเข่า ปวดศีรษะ ปวดไมเกรน
- กลุ่มโรคระบบประสาท เช่น ชาปลายมือ ปลายเท้า อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคอัมพาตใบหน้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ภูมิแพ้ หวัดเรื้อรังและหอบหืด
- กลุ่มโรคระบบต่อมไร้ท่อ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ความดันต่ำ
- กลุ่มโรคระบบทางเดินอาหารและลำไส้ เช่น กรดไหลย้อน ท้องผูก อาหารไม่ย่อย
- กลุ่มโรคทางนรีเวช เช่น ปรับสมดุล ปรับฮอร์โมน ประจำเดือนมาไม่ปกติ เข้าสู่วัยทอง ทั้งบุรุษและสตรี และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
กลุ่มโรคอื่นๆ เช่น การฝังเข็มเพื่อเสริมสุขภาพ เช่น เครียด กังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ
การฝังเข็มช่วยปรับสมดุลร่างกายได้ยังไง
ในทฤษฎีแพทย์แผนจีนจะเน้นความสมดุลของหยิน (หยิน คือ ธาตุเย็น ถ้ามากเกินไปทำให้ร่างกายขาดสมดุล) และหยาง (หยาง คือธาตุร้อน ถ้ามากเกินไปทำให้ป่วยไข้) หากหยินหยางเสียสมดุล ก็อาจจะมีอาการต่างๆ ได้ ยกตัวอย่างบางคนปวดหัวบ่อย อาจเพราะมีธาตุหยางในอวัยวะต่างๆ มากเกินไป เราจะก็ใช้วิธีฝังเข็มระบายความร้อน หรือระบายหยางของอวัยวะนั้นๆ เพื่อให้เกิดความสมดุลขึ้น หรือในบางคนที่มีอาการขี้หนาว หรือมีอาการปวดเมือย ปวดตัว ตอนที่อากาศเปลี่ยน อาจเพราะร่างกายมีธาตุหยินในไตต่ำไป เราก็จะใข้วิธีฝังเข็มเพื่อเพิ่มความหยินไปที่อวัยวะนั้นๆ ดังนั้น การฝังเข็มก็ต้องดูเป็นเคสๆ หรือดูเป็นกลุ่มอาการไป เพราะแต่ละคนมีปัญหาสุขภาพที่แตกต่างกัน การเลือกฝังแต่ตามจุดต่างๆ ก็จะช่วยไปกระตุ้นลมปราณให้ร่างกายเกิดความสมดุลได้
ความแตกต่างระหว่าง แพทย์จีน กับ แพทย์แผนปัจจุบัน
การฝังเข็มก็ถือเป็นแพทย์ทางเลือก (Complementary And Alternative Medicine) ซึ่งการฝังเข็มได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าการรักษาแพทย์ทางหลัก (Conventional and Aliphatic Medicine) ก็ถือว่ายังเป็นทางหลักที่ยังใช้ในการรักษาประชากรส่วนใหญ่ในโลก ซึ่งแพทย์ทางหลักจะเน้นการรักษาแบบแก้อาการก่อน เช่น อาการปวดเกิดจากสารตัวนี้ในร่างกาย หรืออาการนอนไม่หลับเกิดจากระบบประสาทส่วนนี้ หรือสารสื่อประสาทส่วนนี้มันเยอะไป แล้วแพทย์แผนปัจจุบันจะเน้นใช้การใช้ยาหรือสารเคมีเข้าไปรักษา เหมือนการไปบล็อคสารสื่อประสาทส่วนนั้นเพื่อให้การนอนหลับดีขึ้น หรือไปบล็อคสารสื่อการอักเสบส่วนนั้นเพื่อลดอาการปวด จะเห็นได้ว่าแพทย์ทางหลักจะเน้นรักษาอาการเป็นส่วนใหญ่
แต่ในการแพทย์ทางเลือกหลายๆ อย่าง หรือแพทย์แผนจีน จะเน้นไปที่การปรับสมดุลองค์รวม ก็คือการปรับสมดุลธาตุต่างๆ อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม การกิน ซึ่งแพทย์แผนจีนก็อาจจะปรับด้วยยาจีน การฝังเข็ม รวมถึงพฤติกรรมการกินด้วย เป็นการปรับสมดุลองค์รวมของร่างกาย
จริงๆ แล้วการรักษาแบบทั้งสองควบคู่กันไป หรือแบบเดี่ยวๆ ก็ได้ แต่ในบางกลุ่มโรคใช้รักษาแบบคู่ก็ยิ่งเห็นผลดี อย่างเช่น มีบุตรยาก ไข่ไม่ตก นอนไม่หลับ สโตรก เป็นต้น
“หลักการการมองแบบพื้นฐานในการมองโรคแตกต่างกัน แต่สามารถใช้รักษาคู่กันได้”
กลัวเข็มทำยังไงดี?
สำหรับคนที่กลัวเข็ม จริงๆ แล้วเข็มที่ใช้ฝังนั้นเล็กมาก แบบเล็กสุดๆ เล็กกว่าเข็มที่ฉีดที่หน้าหรือเข็มฉีดวัคซีนอีก ดังนั้น ไม่ต้องกังวลเลย
การเตรียมตัว ก่อน-หลัง การฝังเข็ม
- มาเตรียมตัวด้วยใจที่แรงกล้า
- ใส่เสื้อผ้าสบายๆ ที่สามารถถกขา ถกแขนได้
ใครบ้างที่ควรระวังเรื่องการฝังเข็ม
- สตรีที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์
- ผู้ป่วยโรคมะเร็ง
- ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดที่มีความผิดปกติของระบบแข็งตัวของเลือด
การฝังเข็มไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะนอกจากเข็มที่ใช้จะมีขนาดเล็กมากๆ แล้ว เราจะทำการฝังเข็มไปที่เส้นลมปราณต่างๆ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และการฝังเข็มสามารถใช้ได้กับคนเกือบทุกกลุ่มเลย ไม่ว่าจะป่วยเป็นโรคแล้ว หรือบางคนที่ยังไม่ได้เป็นโรคแต่อยากที่จะดูแลสุขภาพ ก็สามารถมาทำการฝังเข็มได้เช่นกัน แต่ถ้าหากไม่แน่ใจว่าตัวเองมีปัญหาด้านไหน สามารถทักไลน์เข้ามาสอบถามได้ก่อนเลย