มีคนถามเข้ามาเยอะว่า “หายติดเชื้อไวรัสแล้วแต่ยังมีอาการอยู่” หรือบางคนตอนเป็นติดเชื้อไวรัสมีอาการน้อย แต่พอหายแล้วกับมีอาการเยอะขึ้น ไวรัสได้ฝากลอยแผลเป็นอะไรไว้ให้กับเราบ้าง วันนี้เรามาคุยเรื่อง ลอง โควิด กันนะครับ
ลอง โควิด หายจากติดเชื้อไวรัสแล้ว แต่ทำไมกลิ่นและการรับรสยังไม่เหมือนเดิม?
หลายคนน่าจะเคยรู้กันอยู่แล้วว่า หลังจากการติดเชื้อไวรัสจะยังมีอาการเหมือนป่วยอยู่ แม้ว่าเราจะตรวจไม่พบเชื้อแล้ว รักษาหายแล้วเกิน 28 วัน หรือเดือนนึงขึ้นไป ซึ่งสาเหตุหลักๆ มีอยู่ 3 อย่างก็คือ
1. Post viral syndrome เป็นอาการหลังติดเชื้อไวรัส ซึ่งจริงๆ ก็เจอทุกไวรัสแหละ เป็นไข้หวัดใหญ่ หรือป่วยหนักเข้าโรงพยาบาล หลังจากที่เราออกโรงพยาบาลมา ร่างกายจะยังไม่ฟื้นดี ยังมีอาการเหนื่อยๆ เพลียๆ ล้าๆ รู้สึกไม่ค่อยสดชื่น เหมือนเราเพิ่งไปต่อสู้มา ผ่านสงครามมา เหมือนทหารกลับมาก็ต้องมีการพักฟื้น บางครั้งสงครามมันยืดยาว กลับมาบางครั้งทหารอาจจะเหนื่อยล้าทั้งร่างกายแล้วก็จิตใจ ทำให้รู้สึกซึมเศร้าก็ยังมีเลย หรือเป็นหนักจนถึงขณะที่เราเรียกว่าเป็นโรค PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) ซึ่งจริงๆ แล้ว ก็มีคนพูดถึงเหมือนกันว่า PTSD หลังติดเชื้อไวรัส เจอประมาณ 30% หรือ 10 คน เจอ 3 คน ที่เป็น PTSD คือซึมเศร้าหลังจากที่เราหายแล้วเกินเดือนนึงขึ้นไป
2. MIS (Multiorgan inflammatory syndrome) คืออวัยวะต่างๆ ยังอักเสบอยู่ แม้ว่าร่างกายจะหายมาแล้วเป็นเดือน พอหลังจากลองวัดค่าการอักเสบในเลือดแล้วเรายังพบว่า ค่าการอักเสบในเลือดแล้วยังสูงอยู่ เปรียบเทียบเหมือนไฟที่ยังดับไม่หมด ยังมีไฟเกิดขึ้นอยู่ในร่างกาย ยังมีการอักเสบอยู่ หรือจะลองนึกถึงไฟป่าที่มันลาม บางครั้งอาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์หรือบางทีหลายเดือนด้วยซ้ำกว่าจะดับหมด ถ้าไฟป่ามันเยอะ ก็ต้องอยู่ที่ทีมดับเพลิงของเราว่ามีมากเพียงพอหรือเปล่า ถ้ายิ่งทีมดับเพลิงเรามีน้อย เช่น สารต้านอนุมูลอิสระเราน้อย ก็อาจจะทำไฟมันลามไปเรื่อย ๆ การอักเสบมันก็จะลามต่อเนื่องไป ทำให้เกิดการอักเสบหลายอวัยวะขึ้น
3. Fibrosis คือเนื้อเยื่อพังผืดที่เกิดขึ้นผิดปกติ หลังจากการโดนทำลายของเนื้อเยื่อปกติไปแล้ว เปรียบเทียบกับพวกซากปรักหักพังในสงครามที่มันโดนทำลายไปแล้ว ทั้งเรื่องของปอด เนื้อเยื่อปอดที่กลายเป็นพังผืด เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อประสาท ระบบประสาททั้งหลายที่อาจจะยังไม่กลับมา ทั้งการรับรส และการได้กลิ่น หรืออาการมือเท้าชา มันอาจจะยังไม่ได้กลับมา 100% ยิ่งตรงที่มันสูญเสียไปแล้ว การฟื้นฟูต้องใช้ระยะเวลา บางครั้งอาจจะนานเป็นหลายเดือนเลยด้วยซ้ำ กว่าจะค่อยๆ ฟื้นฟูเนื้อเยื่อใหม่ขึ้นมา อันนี้ก็เป็นสาเหตุทั้งหมดที่เป็นต้นเหตุของลองโควิดนะครับ
ผู้ป่วยสีเขียว ก็สามารถเป็น ลอง โควิด ได้เหมือนกัน?
หลายงานวิจัยรวมไปถึง CDC (Centers for Disease Control and Prevention) ยังออกมาบอกว่า “อาการหลังติดเชื้อไวรัสมันไม่ได้สัมพันธ์กับความรุนแรงของการเป็นโรค” หมายความว่า คุณนอนโรงพยาบาล หรือทำ Home isolation จะป่วยหนักหรือป่วยเบา ก็อาจจะมีอาการป่วยหลังติดเชื้อไวรัสได้ใกล้เคียงกันประมาณ 50% แปลว่าตอนคุณป่วยมีอาการน้อย แต่หลังจากหายแล้วอาจมีอาการเยอะกว่าก็ยังเป็นไปได้
เคสตัวอย่างคนไข้ที่มีอาการหลังติดเชื้อไวรัส
มีคนไข้หมอมาปรึกษาอยู่คู่หนึ่ง เป็นสามีภรรยากัน ตอนป่วยสามีเป็นหนักกว่าต้องนอนโรงพยาบาล มีอาการเป็นรุนแรง แต่ภรรยาเป็นค่อนข้างเบากว่ามีอาการน้อยรักษาตัวที่บ้านได้ แต่หลังจากหายแล้วกลายเป็นว่าสามีสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ อาการหลังติดเชื้อไวรัสมีน้อยมาก แต่ของภรรยายังรู้สึกไม่สบาย แถมยังดูเป็นมากขึ้นกว่าตอนที่ป่วย ซึ่งรักษาหายนานเป็นเดือนแล้วแต่ก็ยังไม่หาย แม้ว่าพยายามจะกลับมาฟื้นตัว พยายามจะกลับมาวิ่งออกกำลังกาย แต่กลายเป็นว่า “วิ่งแล้วก็เหนื่อย” เหนื่อยเยอะกว่าปกติ
รู้สึกว่าหายใจไม่ค่อยอิ่ม รู้สึกเหนื่อยล้า รู้สึกเพลีย รู้สึกสมองไม่ค่อยแล่น ไม่ค่อยโฟกัส พอทำงานแล้วรู้สึก concentrate กับงานไม่ค่อยดีเหมือนเดิม เพราะยังมีอาการอยู่เยอะมาก รวมถึงอาการที่ไม่รับรส ไม่ได้กลิ่น ก็ยังเป็นอยู่ตั้งแต่เป็นโควิด แม้จะหายเป็นเดือนแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น เลยรู้สึกกลัวว่าจะไม่หายป่าวก็เลยมาปรึกษาหมอ นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างที่บอกว่า อาการหลังติดเชื้อไวรัสไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยสีแดง สีเหลือง สีเขียว ไม่ได้สัมพันธ์กับความรุนแรงของโรคในระหว่างที่เป็น
นพ. พิจักษณ์ วงศ์วิศิษฎ์ (หมอบาย)