เปลี่ยนวิธีคิด เน้นปรับสมดุล เพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน
IN FOCUS
- W9 Wellness Center ศูนย์ดูแลสุขภาพแนวใหม่ ของโรงพยาบาลพระรามเก้า ที่เน้นยกระดับการป้องกันและดูแลสุขภาพ ผ่านการออกแบบการดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล (Personalized Wellness Program)
- โดยมี นพ.พิจักษณ์ วงศ์วิศิษฎ์ ผู้อำนวยการศูนย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกัน(Preventive Medicine) และ พญ.ภัทรลดา ฤทธิวงศ์ เป็นทีมแพทย์หลักที่จะคอยให้บริการและคำปรึกษา
- ที่ W9 Wellness Center จะเน้นการปรับสมดุลสุขภาพ ผ่านการปรับการใช้ชีวิต (Lifestyle Modification) ทั้งการใช้อาหารเป็นยา การกิน การนอน การควบคุมความเครียด และการปรับสมดุลชีวิตในด้านต่างๆ เพื่อสร้างสุขภาพดีอย่างยั่งยืน
- ตอบรับกระแส wellness ที่มาแรงในยุคนี้ โดยเชื่อว่าในอนาคตการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน จะเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น
W9 Wellness Center ศูนย์ดูแลสุขภาพแนวใหม่ ของโรงพยาบาลพระรามเก้า เกิดขึ้นมาเพื่อสอดรับกับเทรนด์ด้านไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้ที่ใส่ใจดูแลสุขภาพตัวเองกันมากขึ้น โดยเป็นการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน ที่จะมีการออกแบบการดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล ผ่านการตรวจสุขภาพเชิงลึก ทั้งด้านพันธุกรรม ฮอร์โมน วิตามิน และสารพิษ พร้อมให้คำแนะนำในการช่วยหาสมดุลการใช้ชีวิตเฉพาะบุคคล ปรับเปลี่ยนทัศนคติว่าการดูแลสุขภาพก่อนเกิดโรคเป็นเรื่องที่ทำได้เอง ทำได้ง่าย และ ทำได้จริง เพื่อให้เรามีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนทั้งร่างกายและจิตใจ
ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในทางการแพทย์ ที่ปกติแล้วเราจะไปพบแพทย์ก็ต่อเมื่อไม่สบาย หรือมีโรคบางอย่าง เพื่อรักษาให้หายดี แต่การดูแลสุขภาพเชิงป้องกันโรคจะคิดกลับกัน คือปรับสมดุลสุขภาพตัวเองตั้งแต่วันนี้ ก่อนจะเกิดโรคต่างๆ ขึ้นตามมา ซึ่งจะผ่านการตรวจวิเคราะห์สมดุลระบบพื้นฐานของร่างกายให้ลึกลงไปมากขึ้นกว่าการตรวจสุขภาพประจำปีทั่วไป เพื่อจะปรับความไม่สมดุล โดยไม่ปล่อยให้ถึงจุดที่เป็นโรค ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในวงการแพทย์ แม้ว่าในปัจจุบันอาจยังไม่ได้เป็นที่นิยมมากนัก แต่เชื่อว่าในอนาคตน่าจะกลายเป็นกระแสหลักได้ไม่ยาก
โดยที่ W9 Wellness Center มี นพ.พิจักษณ์ วงศ์วิศิษฎ์ ผู้อำนวยการศูนย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกัน (Preventive Medicine) และ พญ.ภัทรลดา ฤทธิวงศ์ เป็นทีมแพทย์หลักที่จะคอยให้บริการและคำปรึกษา
การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม
นพ.พิจักษณ์ อธิบายว่า W9 Wellness Center เป็นการนำองค์ความรู้ทางการแพทย์ในหลายๆด้านเข้ามาประยุกต์ร่วมกัน ทั้งด้านเวชศาสตร์ป้องกัน เวชศาตร์ฟื้นฟู และการแพทย์ทางเลือกต่างๆ โดยโฟกัสที่ตัวบุคคลเป็นตัวตั้ง เพราะปัจจัยพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมทำให้ทุกคนแตกต่างกัน Wellness ไม่ใช่แค่การป้องกันอย่างเดียว แต่ร่วมไปถึงการร่วมรักษาโรค และฟื้นฟูความเสื่อมของระบบต่างๆของร่างกายให้กลับมาทำงานให้ดีขึ้นด้วย
“ขณะนี้ Wellness เป็นเมกกะเทรนด์ แต่ยังถือว่าเป็นศาสตร์ใหม่ในวงการแพทย์ อาจยังดูไม่ชัดเจนในสายตาของสังคม เพราะหลายคนยังเข้าใจว่า Wellness เป็นเรื่องของความงาม หรือไม่ก็สปา ทั้งที่จริงๆ แล้ว Wellness เป็นงานด้านการป้องกันและดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ที่เรามองมิติของการดูแลสุขภาพในมุมมองที่แตกต่างไป”
นพ.พิจักษณ์ อธิบายเพิ่มเติมว่าระบบการแพทย์มาตรฐาน จะเริ่มต้นที่คนไข้มีอาการหรืออาการแสดง การรักษาก็เปรียบอวัยวะต่างๆเป็นต้นไม้ที่แตกแขนงเป็นส่วนๆโดยแต่ละคุณหมอเฉพาะทางก็จะดูแลแยกส่วนกันไป เช่นปวดเข่าก็ไปหาหมอกระดูก ปวดท้องก็ไปหาหมอทางเดินอาหาร คนไข้ที่มีหลายโรคก็อาจจะมีหลายหมอและกินยาหลายชนิด ซึ่งในเชิงระบบก็อาจจะยากที่จะประสานทุกอย่างมารวมกันเพื่อหาต้นตอที่แท้จริง
“ในขณะที่การรักษาของ Wellness เราจะดูภาพรวมทั้งระบบของร่างกาย เน้นการปรับสมดุลระบบพื้นฐาน ตั้งแต่สมดุลฮอร์โมน สมดุลสารอาหารและวิตามินต่างๆ ประสิทธิภาพในการขับสารพิษแต่ละชนิด ที่แตกต่างกันตามปัจจัยทางพันธุกรรม ซึ่งปัจจัยพวกนี้ส่งผลต่อทุกระบบในร่างกาย เราปรับใช้องค์ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับสมดุลลำไส้ ทั้งในแง่ภูมิแพ้อาหารแฝง และสมดุลจุลชีพ ที่ส่งผลต่อหลายระบบ ตั้งแต่ระบบภูมิต้านทาน โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคอ้วน และโรคทางจิตประสาท นี่คือสิ่งที่เราต้องมองใหม่ หันมารักษาแบบองค์รวม โดยมองตั้งแต่ระบบพื้นฐานของร่างกายเลย อันนี้คือการมองที่แตกต่างจากอดีตที่มองแยกกัน”
“Wellness เราตรวจเช็คทั้งร่างกาย ครบทุกระบบการทำงานของร่างกาย เพื่อดูสมดุลการทำงาน เพราะเรามองร่างกายเป็นองค์รวม เมื่อระบบหนึ่งเสียสมดุลก็จะส่งผลกระทบต่อไปอีกหลายระบบ เราไม่ได้แยกการตรวจรักษาเป็นส่วนในแต่ละอวัยวะ เน้นรักษาเพื่อสร้างสมดุลของร่างกาย เพื่อให้ทุกระบบทำงานประสานอย่างมีประสิทธิภาพ”
คืนความสมดุลให้ร่างกาย
W9 Wellness ตอบโจทย์ลูกค้า 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มคนที่ยังไม่ป่วย แต่ต้องการดูแลสุขภาพให้ดี ต้องการดูดีอยู่เสมอจากภายใน สองเป็นกลุ่มคนป่วยเรื้อรังต้องกินยา และต้องการปรับสมดุลกับเรา เช่นคนที่นอนไม่หลับ เป็นไมเกรน และสามเป็นกลุ่มคนที่มีโรคเกี่ยวกับความเสื่อมแล้วต้องการฟื้นฟู เช่น กระดูกพรุน ข้อเข่าเสื่อม หรืออัลไซเมอร์
“กลุ่มแรก คนที่ไม่ป่วย เข้ามาก็จะคุยกับเราก่อนอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมง เพื่อดูไลฟ์สไตล์ การกิน การนอน การทำงาน มีเช็กลิสต์ที่ช่วยประเมินคุณภาพในการใช้ชีวิตประจำวันเบื้องต้น เพื่อที่จะแนะนำโปรแกรมตรวจสุขภาพเชิงลึก ซึ่งก็จะแตกต่างกันไปตามปัญหาและความสนใจเฉพาะบุคคล” นพ.พิจักษณ์กล่าว
“โดยการตรวจเชิงลึกจะช่วยให้เราเข้าใจ ระบบเผาผลาญของเรามากขึ้น เช่น ถ้ากินอาหารเข้าไปแล้วร่างกายนำไปใช้ได้ดีไหม ไม่ว่าจะเป็นคาร์โบไฮเดรต โปรตีนหรือไขมัน การเผาผลาญติดขัดตรงไหน ร่างกายขาดวิตามินตัวไหนบ้าง ซึ่งวิธีการปรับสมดุลเราจะทำทั้งระยะสั้น โดยชดเชยสารอาหารจำเป็นที่ขาด และระยะยาวโดยการแนะนำปรับเปลี่ยนอาหารที่เหมาะสม มีโภชนาการตรงกับที่ร่างกายต้องการ”
ด้านพญ.ภัทรลดา กล่าวเสริมว่า “แปลกมากที่เมืองไทยมีแดดตลอดทั้งปี แต่คนไทยมีวิตามินดีต่ำ ด้วยกลัวร้อนส่วนหนึ่ง แล้วก็บางคนชีวิตมันไม่ค่อยได้ออกไปข้างนอก ส่วนใหญ่อยู่ในตึกและไม่เห็นความสำคัญของการออกไปอยู่ข้างนอกบ้าง หรืออาหารที่เรากินเข้าไป ถ้าไม่ต้องกินอาหารเสริม เราจะรู้ได้ยังไงว่ามันพอแล้ว ทั้งการดูดซึมและเผาผลาญ”
“ตอนนี้ที่กำลังเป็นปัญหาต่อสุขภาพก็จะมีเรื่องฝุ่น PM 2.5 ซึ่งจะมีโลหะหนักปะปนอยู่ด้วย เวลาที่สะสมในร่างกายจะทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบและผลิตสารอนุมูลอิสระ หรือในบางคนเกี่ยวข้องกับเรื่องของระบบเผาผลาญและระบบฮอร์โมน คือได้รับสารพิษมากๆ และร่างกายไม่สามารถขับออกได้ทัน เพราะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ กระบวนการการดีท็อกซ์ของร่างกายก็ไม่สมดุล ทำให้ร่างกายเกิดความเสื่อมมากขึ้น เมื่อระบบการขับสารพิษถูกรบกวน มีการสะสมสารพิษในร่างกายมากขึ้น ก็จะส่งผลต่อสมดุลอีกหลายระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบประสาท ฮอร์โมน การเผาผลาญ จนส่งผลต่อวิถีชีวิตของเรา ทั้งการนอนหลับ ย่อยอาหาร มันก็จะวนเป็นวงจรอยู่อย่างนี้ สิ่งที่เราทำคือพยายามจะปรับสมดุลให้ร่างกาย และหาสาเหตุว่าร่างกายเราขาดสมดุลที่ตรงไหน สาเหตุที่แท้จริงคืออะไร ไม่ใช่แค่เราไปดึงสารพิษออก แต่จะทำยังไง ให้ธรรมชาติของร่างกายเราทำงานได้ดีขึ้น”
เลือกกิน เลือกใช้ชีวิต ไม่ยากอย่างที่คิด
นพ.พิจักษณ์ ย้ำว่าการจะดูแลสุขภาพตัวเอง ป้องกันก่อนเกิดโรค มันไม่ใช่เรื่องยาก อยู่ที่ทัศนคติต่อการใช้ชีวิต โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน ที่หลายคนอาจบ่นว่าหาของสุขภาพดีกินยาก หรือบางทีก็ราคาสูง แต่จริงๆเราสามารถเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพจากรอบๆตัวเราได้ เช่น ในตอนเช้าอาจจะต้องเร่งรีบมาก ปกติเข้าร้านสะดวกซื้อเพื่อซื้อแซนวิชมากิน เราแค่เปลี่ยนจากหยิบแซนวิชมาเป็นซาลาเปา เท่านี้ร่างกายก็ได้คาร์โบไฮเดรตคุณภาพที่ดีขึ้นแล้ว การปรับเปลี่ยนการตัดสินใจเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ในชีวิตประจำวัน ล้วนส่งผลต่อสุขภาพเราได้ทั้งสิ้น
“ W9 Wellness เราตั้งชื่อโปรแกรมตรวจของเราว่า เฮลท์ติจูด (Healthitude) ซึ่งมาจากคำว่า คือ Healthy กับ Attitude เพราะการจะมีสุขภาพที่ดีได้อย่างยั่งยืนนั้น ต้องปรับที่ทัศนคติ ตระหนักรู้ถึงผลต่อสุขภาพ จะทำให้เราเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะกับตัวเอง และรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เป็นตัวเองได้อย่างสมดุล”
“เฮลท์ติจูด (Healthitude) เป็นโปรแกรมที่ทุกคนเข้ามาแล้วจะได้อะไรกลับไปแบบระยะยาว โดยค่อยๆช่วยเปลี่ยนวิธีคิด ว่าอาหารที่ดี ไม่ใช่ต้องไปกินผักกินสลัดทุกมื้อ เฮลตี้แบบทุกทรมานมันไม่ได้เหมาะกับทุกคน เพราะสมดุลของแต่ละคนแตกต่างกัน ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องกินดีหมดทุกอย่างตามตำรา คุณกินไอศกรีมได้ กินขนมหวานได้ แต่ต้องรู้จักสมดุล ถ้ายังติดหวาน การเปลี่ยนน้ำตาลทรายเป็นน้ำตาลมะพร้าวหรือหญ้าหวาน ซึ่งเป็นความหวานจากธรรมชาติที่ไม่ได้แพงและหายาก ก็ลดความเสียหายต่อร่างกายได้มากแล้ว เราจะให้ทางเลือกที่เขาอาจไม่ได้คิดมาก่อน ทำให้เขาสุขภาพดีได้ง่ายขึ้น ผ่านการผสานกับไลฟ์สไตล์ของเขาเอง เป็นการเปลี่ยนตัวเลือกของเขาในไลฟ์สไตล์แบบเดิม”
พญ.ภัทรลดา ยกตัวอย่างการเปลี่ยนจากการกินข้าวขาวมาเป็นข้าวกล้อง และยังสามารถใส่ลูกเดือยผสมควินัวเข้าไป เป็นอะไรที่เขาไม่รู้มาก่อน หรือรู้แล้วไม่ได้นึกถึง ว่าจริงๆ แล้วชีวิตคนเรามันมีทางเลือกมากกว่านั้น หรือ เวลาอยากหาของว่างแก้เหงาปากเพิ่มพลังระหว่างวัน เราสามารถ เลือกอาหารกลุ่มไขมันชนิดดีอย่างนมอัลมอนด์ นมพิตาชิโอ หรือถั่วที่อบแบบธรรมชาติก็มีให้เลือกหลายชนิด”
“หลายคนจะไปอ่านในอินเตอร์เน็ต ดูคำแนะนำว่าวิธีนั้นดี แต่อาจไม่เหมาะกับชีวิตตัวเอง บางคนทำ IF (Intermittent Fasting) บางคนทำแล้วดี บางคนไม่ดี เพราะร่างกายเราไม่เหมือนกัน ถ้าสมดุลฮอร์โมนยังไม่ดี การไปอดอาหารอาจเพิ่มความเครียดและส่งผลเสียต่อร่างกายได้ เพราะฉะนั้น เราต้องรู้จักร่างกายตัวเอง ว่าเราเป็นยังไง มีคนให้คำแนะนำ เตรียมตัวยังไง กินอาหารยังไง ทำ IF จะเป็นยังไง มันเป็นเรื่องการให้ความรู้ในการใช้ชีวิต” พญ.ภัทรลดากล่าว
ทางเลือกที่จะกลายเป็นกระแสหลัก
อย่างไรก็ตาม นพ.พิจักษณ์ ยอมรับว่าเรื่องการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันยังไม่ค่อยแพร่หลายมากนัก ด้วยหลายอย่างเป็นองค์ความรู้ใหม่ แพทย์ที่สนใจทำงานด้านนี้ก็ยังมีไม่มาก แต่เชื่อว่าต่อไปจะเริ่มมีคนสนใจแนวทางนี้มากขึ้น โดยทั่วไป การรักษาจะเกิดขึ้นเมื่อมีโรค แต่สำหรับเราจะไม่มองว่าอาการนั้นๆเป็นโรค แต่เป็นสภาวะ เป็นความเสื่อม ที่เกิดจากปัจจัยเกี่ยวเนื่องกันทั้งหมดไม่ว่า จะเป็น อาหาร สารพิษ การพักผ่อน ความเครียด การนอน ทุกอย่างมาจากไลฟ์สไตล์ ที่ทำให้ร่างกายเกิดภาวะที่ไม่สมดุล แล้วหน้าที่ของเราคือเข้ามาช่วยปรับและฟื้นฟูสมดุลให้กลับมาเป็นปกติ
พญ.ภัทรลดา ยกตัวอย่างโรคเบาหวาน ที่หลายคนมองว่ามันคือโรคที่รักษาไม่หาย รอวันที่จะล้างไต ถ้าขึ้นตาก็ตาบอด แต่ที่นี่มองเป็นโรคแห่งความเสื่อม หลอดเลือดเสื่อม กระบวนการเผาผลาญเสียสมดุล ดูว่าภาวะความเสื่อมอยู่ที่จุดไหนและอะไรที่ทำให้ร่างกายเสียสมดุล อะไรทำให้ร่างกายเอาน้ำตาลไปใช้ได้ไม่ดี ทำไมดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน ทั้งในแง่ฮอร์โมน สมดุลสารอาหาร และสารพิษ
“คนที่ใช้ชีวิตเฮลตี้มากๆ จะเห็นคุณค่าของเราชัดเจน เพราะมันช่วยประหยัดเวลาเค้าได้มาก ไม่ต้องไปทดลองสุ่มทำแบบคนอื่น กินแบบคนอื่นที่เค้าว่าดี แต่เค้าจะเข้าใจร่างกายตัวเองจริงๆ ว่าเหมาะกับอะไร ต้องการอะไร และ ขาดอะไรบ้าง ผ่านการแนะนำของเรา เพื่อการสร้างสมดุลสุขภาพเฉพาะตัวอย่างเห็นผล” นพ.พิจักษณ์ กล่าวทิ้งท้าย
Tags: สุขภาพ, health, health care, W9 Wellness, โรงพยาบาลพระรามเก้า
ขอขอบคุณบทความดีๆ จาก THE MOMENTUM TEAM ติดตามอ่านบทความต้นฉบับได้ที่ https://themomentum.co/w9-wellness-interview-content/
รู้จัก W9 Wellness Center มากยิ่งขึ้น https://w9wellness.com/about-us/