วิตามินดีกับ ภาวะซึมเศร้า Vitamin D and Depression
ภาวะขาดวิตามินดีหลายชนิด รวมทั้งภาวะขาดวิตามินดี มีความสัมพันธ์กับ ภาวะซึมเศร้า รวมถึงระดับวิตามินดีที่ต่ำ อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการควบคุมอารมณ์ การตัดสินใจ และพฤติกรรม และวิตามินดีไม่ใช่ยารักษาโรคซึมเศร้า แต่การได้รับวิตามินดีชดเชยนั้น มีส่วนช่วยในการควบคุมอารมณ์ และเพิ่มคุณภาพการนอนหลับได้
ภาวะซึมเศร้า มักถูกพบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ในการรักษาโรคซึมเศร้านั้น เราจะใช้ยาร่วมกับจิตบำบัด มีผลประสบความสำเร็จถึง 76-85% (World Health Organization WHO 2020) แต่ผู้ป่วยในจำนวนน้อยกว่า 25% เท่านั้นที่ได้รับการรักษา ทั้งนี้มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ไม่อยากทานยา เพราะกลัวติดการใช้ยา หรือทนต่อผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นไม่ไหว และภาวะซึมเศร้านี้ เปรียบเสมือนโรคเรื้อรังซึ่งสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้
มีผลงานวิจัยจำนวนมากขึ้น เริ่มศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ภาวะซึมเศร้ากับภาวะขาดวิตามิน สารอาหาร หรือแร่ธาตุหลายชนิด เช่น วิตามินบี 3, วิตามินบี 6, วิตามินบี 12, โฟเลท, วิตามินดี, สังกะสี, ทองแดง, แมกนีเซียม รวมทั้งกรดไขมันจำเป็น เช่น โอเมก้า-3 หรือแม้แต่กรดอะมิโนบางชนิด เช่น กาบ้า ไกลซีน ทริปโตแฟน หรือ ไทโรซีน เป็นต้น
และยังมี งานวิจัยขนาดใหญ่ในอังกฤษ ซึ่งศึกษาในคนกว่า 31,000 คน พบว่า กลุ่มคนที่เป็นภาวะซึมเศร้า มีระดับวิตามินดีต่ำ กว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ และยังพบว่า กลุ่มที่วิตามินดีต่ำ มีคนที่เป็นภาวะซึมเศร้ามากกว่า กลุ่มที่วิตามินดีสูงถึง 121% ซึ่งสามารถ สรุปได้ว่า ระดับวิตามินดีที่ต่ำมีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าจริง
จากงานวิจัย ระดับวิตามินดีต่ำจึงถือเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่มีผลกับภาวะซึมเศร้า และมีหลักฐานมากเพียงพอที่จะ แนะนำให้ผู้ป่วยซึมเศร้า ตรวจคัดกรองและรักษาภาวะขาดวิตามินดี
วิตามินดีส่งผลต่อการทำงานของสมองอย่างไร?
วิตามินดี เป็นวิตามินที่ละลายและจะถูกจัดเก็บสะสมไว้ในไขมัน สมองของเราก็เป็นเนื้อเยื่อไขมันขนาดใหญ่ เราพบตัวรับวิตามินดี (Vitamin D Receptor) ในเซลล์สมองเกือบทุกเซลล์ วิตามินดีจึงถือเป็นฮอร์โมนที่สำคัญตัวหนึ่ง ที่มีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของระบบประสาทและสมอง นอกจากนี้วิตามินดียังมีหน้าที่กระตุ้นและยับยั้งเอ็นไซม์ ที่มีส่วนป้องกันความเสียหาย การซ่อมแซม และสร้างเซลล์ประสาทในสมองด้วย ในภาวะขาดวิตามินดีไม่เพียงแต่ส่งผลต่อสุขภาวะทางอารมณ์ แต่ยังส่งผลถึงความคิดอ่าน ความจำ และประสิทธิภาพการทำงานของสมอง
โดยงานวิจัยทางระบาดวิทยาพบว่า วิตามินดียังมีความสำคัญกับพัฒนาการของสมองตั้งแต่ในครรภ์ เด็กที่เกิดจากแม่ที่มีวิตามินดีต่ำ จะพบการเปลี่ยนแปลงทั้งโครงสร้างและการทำงานของสมอง การทำงานของสารสสื่อประสาทโดปามีน และเพิ่มความเสี่ยงของโรคจิตประเภทในวันรุ่นได้
วิตามินดี และคุณแม่ตั้งครรภ์
มีการศึกษาเกี่ยวกับ ภาวะซึมเศร้าในผู้หญิงหลังคลอด (Postpartum Depression) พบว่า คุณแม่ที่มีระดับวิตามินดีต่ำ ทั้งตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์ ไปจนถึงหลังคลอด จะมีโอกาสเป็นซึมเศร้าได้มากกว่าถึง 2.67 เท่า และมีบางรายงานพบว่าการเสริมวิตามินดี อาจส่งผลดีต่อการลดลงของภาวะซึมเศร้าได้
การรักษาภาวะซึมเศร้าในทาง Functional Medicine ยังมองไปถึงปัจจัยอื่น เช่น ความผิดปกติของจุลชีพในลำไส้ (Dysbiosis) และระดับสารพิษสะสมจากสิ่งแวดล้อม (Environmental Toxicity) เพิ่มเติมจากการรักษาปกติด้วย ซึ่งสาเหตุของการเกิดภาวะซึมเศร้ามีได้หลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม สารเคมีในสมองเสียสมดุล สารอาหารต่ำ สมดุลลำไส้ ยาที่ใช้ และความเครียด
ดังนั้น การขาดวิตามินดีไม่ใช่เพียงสาเหตุเดียวที่นำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ แต่การตรวจวัดระดับวิตามินดีสำหรับคนที่มีความเสี่ยงก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามนะครับ
หนังสือ Healthitude สุข(อุดม)คติ
นพ.พิจักษณ์ วงศ์วิศิษฎ์ (หมอบาย)