มีคนไข้หลายคนเข้ามาปรึกษาหมอว่า ทำไมบางครั้ง กินโพรไบโอติกส์ แล้วไม่เห็นผล เพราะเห็นโฆษณาว่าช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น ช่วยเรื่องลดน้ำหนัก และยังช่วยเรื่องภูมิแพ้ แต่กินไปแล้วกลับกลายเป็นว่าไม่ช่วยอะไรเลย หมอต้องบอกก่อนว่า เราต้องอย่าลืมว่าโพรไบโอติกส์มันมีชีวิต และโพรไบโอติกส์ไม่ใช่ยา ดังนั้นเราจึงไม่สามารถควบคุมอาการมันได้ทุกอย่างได้ มันจึงมีปัจจัยหลายๆ อย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง หนึ่งในนั้นก็คือ ชนิด และจำนวนของโพรไบโอติกส์ที่ต้องรีบประทาน วันนี้หมอมีคำแนะนำว่าจริงๆ แล้ว เราควร กินโพรไบโอติกส์ตอนไหน กันแน่ถึงจะเห็นผล
เราควรเลือก กินโพรไบโอติกส์ตอนไหน ถึงจะเห็นผล?
ก็ต้องบอกว่าจริงๆ แล้วในการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของโพรไบโอติกส์ในปัจจุบันมีค่อนข้างมากเลย แล้วส่วนใหญ่ก็จะพบว่า มีประโยชน์กับร่างกายของเราจริงๆ เพียงแต่ว่าเราต้องไม่ลืมว่า พอพูดถึงจุลินทรีย์มันมีหลากหลาย หลายพัน หลายหมื่น หลายแสนล้านชนิดอยู่ในร่างกาย มีชนิดย่อยๆ เต็มไปหมดเลย ทุกวันนี้เรายังศึกษาได้แค่บางส่วน
มันก็จะมีเชื้อจำนวนนึงที่อยู่ในลิสต์ว่ามันเป็นเชื้อที่ดี ในเชื้อแต่ละตัวเองก็จะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป มีคุณสมบัติที่คาบเกี่ยวกันไป เพราะฉะนั้นการจะเลือกโพรไบโอติกส์กับปัญหานึงเนี่ย จริงๆ หมอมองว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย บางทีมันไม่อาจจะสามารถใช้เชื้อรวมๆ เหมือนว่าเอา 10 ตัวนี้มาแล้วมาใช้กับทุกสภาวะได้ เพราะว่าในแต่ละคนเองก็มีความหลากหลายของชนิดเชื้อที่แตกต่างกันอีกเหมือนกัน
การกินโพรไบโอติกส์ที่มากเกินไป หรือว่าชนิดที่อาจจะไม่ได้เหมาะสมกับเรา บางทีอาจจะนำมาสู่การเสียสมดุลของจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร หรือว่าทำให้โพรไบโอติกส์ในท้องของเรา จากที่มันดีอยู่แล้วกลับแย่ลงด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นแล้ว การกินโพรไบโอติกส์ให้เหมาะสมกับบุคคล กับปัญหา กับลักษณะที่เป็นเราอาจจะเหมาะสมกว่า
โพรไบโอติกส์ ควรกินแบบไหน ถึงจะได้ผล?
การรับกินโพรไบโอติกส์ก็จะมีคำถามเยอะมากว่า ควรจะกินช่วงเวลาไหน?
จริงๆ แล้วเราต้องบอกว่า ธรรมชาติของโพรไบโอติกส์แต่ละตัวก็มีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน บางตัวทนกรดได้ บางตัวทนกรดไม่ได้ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วการกินโพรไบโอติกส์หลังอาหาร กับการกินตอนท้องว่าง จริงๆ แล้วอาจจะแตกต่างกันไปตามชนิดของเชื้อ หรือว่าชนิดของสายพันธุ์ด้วยซ้ำ แต่ในภาพรวมส่วนใหญ่แล้วถ้าเป็นไปได้ ในทั่วๆ ไปเราแนะนำให้กินตอนท้องว่างซะมากกว่า เหตุผลเพราะว่าตามทฤษฏีข้อที่หนึ่ง
- การกินโพรไบโอติกส์กับอาหาร หรือหลังอาหารทันที อาจจะส่งผลให้โพรไบโอติกส์เกาะกับอาหาร ทำให้มีโอกาสที่จะเกาะกับผนังลำไส้หรือทางเดินอาหารของเราลดลง แล้วไปเจริญเติบโตให้ผลระยะยาวน้อยกว่ากับการกินในช่วงท้องว่าง เพราะฉะนั้นในบางครั้งเลยไม่แปลกใจว่า ผู้ผลิตบางค่ายก็จะแนะนำให้กินโพรไบโอติกส์ในช่วงก่อนนอนบ้าง หลังตื่นนอนตอนเช้า ตอนท่องว่าง ด้วยเหตุผลเรื่องของการให้มันเกาะกับทางเดินอาหารได้ดีกว่า
- ส่วนอีกไอเดียนึง ก็จะมีผู้ผลิตบางค่าย พยายามผลิตโพรไบโอติกส์โดยมีการเคลือบแคปซูลไว้ เพื่อให้โพรไบโอติกส์ชนิดที่ไม่ทนกรด สามารถลงไปถึงบริเวณลไส้เล็กส่วนปลาย หรือลำไส้ใหญ่ได้ ก่อนที่มันจะเจอกรดในกระเพาะอาหารทำลายทิ้ง
เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วการรับประทานโพรไบโอติกส์ สิ่งนึงที่สำคัญคือ การเลือกรับประทานให้เหมาะกับชนิดที่ผู้ผลิตได้ผลิตมา หรือจริงๆ หมอแนะนำว่าให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญน่าจะเหมาะสมกว่า
- ช่วยลดอาการท้องผูก ท้องเสีย
- ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
- ช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในเลือด
- ช่วยควบคุมอารมณ์และสมอง
- ช่วยควบคุมน้ำหนัก
- ช่วยลดปัญหาสิว ผิวพรรณ
ทำความ รู้จักโพรไบโอติกส์ แต่ละสายพันธุ์ว่าสำคัญต่อสุขภาพลำไส้อย่างไร
- Bifidobacterium Bifidum (B.bifidum) พบได้ทั่วไปในลำไส้ใหญ่และช่องคลอด ถือเป็นโพรไบโอติกส์ที่สำคัญ ช่วยป้องกันการเพิ่มจำนวนของเชื้อแบคทีเรียก่อโรค โดยไปยึดเกาะผนังลำไส้ คอยเพิ่มจำนวนและแย่งสารอาหารจากจุลินทรีย์ชนิดที่ไม่ดี
- Bifidobacterium breve (B.breve) พบบริเวณลำไส้ส่วนล่างของทารกและผู้ใหญ่บางราย และยังอาจพบในช่องคลอดของผู้ใหญ่ เป็นจุลินทรีย์ที่ดี สามารถช่วยส่งเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ซึ่งเด็กคลอดธรรมชาติจะมีโอกาสได้รับจุลินทรีย์ชนิดนี้ตั้งแต่แรกเกิดผ่านทางช่องคลอดของแม่ ทำให้เด็กคลอดธรรมชาติมีพื้นฐานร่างกายที่แข็งแรง
- Bifidobacterium lactis (B.lactis) เป็นโพรไบโอติกส์ที่พบมากในลำไส้ใหญ่ ทนทานต่อกรดในกระเพาะอาหาร มีชีวิตอยู่ในลำไส้ได้นาน และมีงานพบว่า B.lactis มีประโยชน์ในผู้ป่วยที่มีโรคผิวหนังอักเสบ ช่วยเพิ่มเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T (T lymphocytes) และเซลล์เพชฌฆาต NK Cell (Natural Killer Cells) ทั้งหมด ส่งผลทำให้ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น
- Bifidobacterium longum (B.longum) เป็นแบคทีเรียชนิดกรดแล็กติกที่สามารถหลั่งกรดแล็กติกและกรดแอซีติกออกสู่แวดล้อม จึงมีความต้านทานต่อสภาพที่เป็นกรด มีคุณสมบัติในการซ่อมแซมเยื่อบุผนังทางเดินอาหารและควบคุมลำไส้มีความสมดุล
- Lactobacillus acidophilus (L.acidophilus) เป็นแบคทีเรียชนิดกรดแล็กติก มีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ชนิดที่ทำให้เกิดโรค ช่วยเพิ่มความต้านทานต่อเชื้อโรค L.acidophilus อาจสามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด L.acidophilus มีประสิทธิภาพในการรักษาอาการท้องเสียจากยาปฏิชีวนะ ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพในผู้ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้รวมถึงโรคผิวหนังอักเสบ L.acidophilus พบได้ตามธรรมชาติในโยเกิร์ต อาศัยอยู่ในลำไส้เล็ก ช่องคลอด ท่อปัสสาวะ และปากมดลูก
- Lactobacillus gasseri (L.gasseri) เป็นโพรไบโอติกส์ที่มีคุณสมบัติเด่นในเรื่องของการควบคุมน้ำหนัก ลดไขมันในช่องท้อง เส้นรอบเอวและเส้นรอบสะโพก ส่วนใหญ่พบในน้ำนมของแม่
- Lactobacillus helveticus (L.helveticus) เป็นโพรไบโอติกส์ที่มีแหล่งกำเนิดมาจากผลิตภัณฑ์นม เป็นแบคทีเรียชนิดกรดแล็กติกที่มีฤทธิ์ต้านจุลชีพ มีงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า L.helveticus อาจมีฤทธิ์ป้องกันโรคมะเร็ง และมีประโยชน์ในผู้ป่วยโรคความดันเลือดสูง
- Lactobacillus paracasei (L.paracasei) งานวิจัยพบว่า เชื้อ L.paracasei NCC2461 ช่วยลดการอักเสบและช่วยให้การบีบตัวในระบบทางเดินอาหารของผู้ป่วยที่เป็นโรคลำไส้แปรปรวน (irritable bowel syndrome: IBS) ให้ดีขึ้นได้
- Lactobacillus plantarum (L.plantarum) มีต้นกำเนิดจากพืช แบคทีเรียชนิดนี้ผลิตกรดแล็กติกที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมาก กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย L.plantarum อาจมีประโยชน์ในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ โรคไขข้ออักเสบ ระดับคอเลสเตอรอลสูงในเลือด โรคติดเชื้อ โรคลำไส้แปรปรวน ช่วยลดอาการอืดแน่นไม่สบายท้องในผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวนได้ และอาจช่วยป้องกันโรคมะเร็ง
- Lactobacillus reuteri (L.reuteri) เป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ที่มีต้นกำเนิดมาจากน้ำนมแม่ เป็นหนึ่งในโพรไบโอติกส์สำหรับเด็ก เพราะเป็นสายพันธุ์ที่มีงานวิจัยทางการแพทย์รองรับหลายชิ้นว่า โพรไบโอติกชนิดนี้อาจช่วยให้เด็กมีร่างกายแข็งแรง และช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้
- Lactobacillus rhamnosus (L.rhamnosus) เป็นแบคทีเรียที่มีความทนทานต่อกรดในกระเพาะอาหารพบได้ในลำไส้เล็กและช่องคลอด มีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อในช่องคลอดและทางเดินปัสสาวะ มีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง ช่วยลดภาวะภูมิไวเกิน (hypersensitivity) ช่วยรักษาผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบ โรคภูมิแพ้ ภูมิแพ้อาหาร และอื่นๆ
- Streptococcus thermophilus เป็นแบคทีเรียที่มีการนำไปใช้ในการผลิตโยเกิร์ต โดยแบคทีเรียชนิดนี้สามารถผลิตเอนไซม์ lactase เพื่อไปสลายน้ำตาล lactose ให้กลายเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ซึ่งช่วยให้คนที่มีภาวะแพ้ lactose สามารถย่อยอาหารที่มีส่วนผสมของผลิตภัณฑ์นม และลดอาการแพ้ลงได้
ตรวจจุลินทรีย์ ก่อนเสริม โพรไบโอติกส์ เพื่อประสิทธิภาพที่ชัวร์กว่า
จะเห็นว่าหลังจากที่หมอพูดมาทั้งหมด การรับประทานโพรไบโอติกส์ให้ได้ประโยชน์มันมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องมาก ไม่ว่าจะเป็นชนิดของโพรไบโอติกส์ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนของโพรไบโอติกส์ ไม่ว่าจะเป็นโรคหรือสภาวะที่เราอยากจะรับประทานเพื่อแก้ไข แล้วสุดท้ายก็คงเป็นเรื่องของปัจจัยสมดุลจุลินทรีย์ หรือสมดุลของโพรไบโอติกส์ในแต่ละคนนั่นเอง ซึ่งนอกจากประวัติเองที่อาจจะช่วยหมอในการเลือกตัดสินใจแล้ว จริงๆ แล้ว การตรวจอุจจาระ (Gut Microbiome DNA-Test) เพื่อดูชนิดโพรไบโอติกส์ที่อยู่ในลำไส้แต่เดิมของเรา มันก็อาจจะทำให้เราจะเลือกโพรไบโอตกิส์ได้แม่นยำขึ้น และเกิดประโยชน์ได้มากขึ้น
“เพราะร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน การเสริมโพรไบโอติกส์จึงต่างกัน”