“มะพร้าวอ่อน” (Young Coconut) ถือว่าผลไม้ที่หาได้ง่ายในประเทศไทย หากเราลองสังเกตดูมะพร้าวอ่อนมักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของความสดชื่นในฤดูร้อน หรือเครื่องดื่มริมทะเล เนื่องจากน้ำมะพร้าวอ่อนช่วยแก้กระหาย และเพิ่มความสดชื่นได้เป็นอย่างดี แต่นอกจากความสดชื่น มะพร้าวอ่อนยังมีประโยชน์มากกว่านั้น เรามาทำความรู้จักคุณประโยชน์ของมะพร้าวอ่อนในเชิง Wellness กันค่ะ
ทำไมดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนแล้วรู้สึกสดชื่น
เนื่องจากน้ำมะพร้าวอ่อน อุดมไปด้วยวิตามินบีต่างๆ ทั้ง วิตามินบี 1, บี 2, บี 3, บี 5, บี 6, ไบโอติน, และกรดโฟลิค รวมถึงแร่ธาตุต่างๆ เช่น โพแทสเซียม แคลเซียม โซเดียม แมกนีเซียม แมงกานีส เป็นต้น จึงมีคุณสมบัติเป็นน้ำเกลือแร่ธรรมชาติ ที่นอกจากจะเพิ่มเติมความสดชื่นในวันที่อากาศร้อนแล้ว ยังช่วยปรับสมดุลแร่ธาตุบรรเทาความอ่อนล้าอ่อนเพลียหลังออกกำลังกายได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยรักษาสมดุลเกลือแร่ในผู้ที่มีอาการขาดน้ำจากภาวะท้องเสียได้อีกด้วย
ดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนชะลอวัยได้จริงหรือ?
ในน้ำมะพร้าวอ่อน ยังสัมพันธ์กับเรื่องฮอร์โมน จะมีสารกลุ่มฮอร์โมนพืช “ไซโตไคนิน (cytokinin)” 2 ตัว ซึ่งตัวแรกคือ ไคเนติน (kinetin) มีฤทธิ์ชะลอความแก่ (anti-ageing effects) มีงานวิจัยระบุว่าไคเนตินสามารถชะลอการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ไฟโบรบลาสต์ของคน (เซลล์ที่สร้างคอลลาเจนและอิลาสติน) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีที่เกี่ยวข้องกับความแก่ของผิวหนังในระดับเซลล์นั่นเอง นอกจากนี้น้ำมะพร้าวอ่อนยังมีสารประกอบ ทรานส์-ซีติน (trans-zeatin) ที่ออกฤทธิ์ชะลอความแก่ในเซลล์ไฟโบรบลาสต์ของคนด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ระบุว่า น้ำมะพร้าวอ่อนช่วยเพิ่มความกระจ่างใสของผิว ช่วยให้ผิวอ่อนนุ่มขึ้น อีกทั้งยังลดริ้วรอยเหี่ยวย่นได้อีกด้วย
น้ำมะพร้าวอ่อนกับสตรีวัยทอง
ในสตรีวัยทอง ผลข้างเคียงที่สำคัญอันเกิดจากการหมดประจำเดือนคือ โรคหัวใจ โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) และกระดูกพรุน ซึ่งสตรีวัยทองส่วนใหญ่จะได้รับฮอร์โมนทดแทน เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าวเหล่านั้น แต่หากรับฮอร์โมนทดแทนต่อเนื่องเกิน 5 ปีขึ้นไปจะพบผลข้างเคียงอื่นๆ ตามมา ได้แก่ มะเร็งต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมถึงโรคหลอดเลือดในสมองตีบ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกันจึงได้ใช้ฮอร์โมนทดแทนจากพืชมาทดแทนฮอร์โมนสังเคราะห์
ในน้ำมะพร้าวอ่อนจะมีฮอร์โมนจากพืช (Phytohormones) อยู่หลายชนิด ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ไฟโตเอสโตรเจน (phytoestrogen) ที่มีโครงสร้างและการออกฤทธิ์คล้ายคลึงกับฮอร์โมนเอสโตรเจน (ฮอร์โมนเพศหญิง) ช่วยลดอาการร้อนวูบวาบ และเหงื่ออกกลางคืนในสตรีวัยทองได้ นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) และกระดูกพรุนในสตรีวัยทองได้
น้ำมะพร้าวอ่อนลดความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์
อย่างที่เราทราบกันดีว่าโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) เกิดจากความเสื่อมของการทำงานและโครงสร้างของเนื้อเยื่อสมอง ซึ่งเป็นความเสื่อมที่เกิดจากของเสีย (Toxic Protein) ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Beta-Amyloid สะสมคั่งค้างในสมอง และไปทำลายเซลล์สมอง ทำให้เนื้อสมองฝ่อ ส่งผลให้สารสื่อประสาท Acetylcholine ที่มีผลโดยตรงต่อความทรงจำลดลง เซลล์สมองเสียหาย และทำให้เกิดอาการสมองเสื่อม
ซึ่งในน้ำมะพร้าวอ่อนนี้ มีสารประกอบ ทรานส์-ซีติน (trans-zeatin) ที่มีงานวิจัยระบุว่า สามารถป้องกันการสร้างโปรตีนเบต้าอะมัยลอยด์ (Beta-Amyloid) ที่เป็นสารพิษทำลายเซลล์สมอง ต้นเหตุของโรคอัลไซเมอร์ได้
ข้อจำกัดในการดื่มน้ำมะพร้าวอ่อน
- ไม่ควรดื่มขณะมีประจำเดือน เพราะในน้ำมะพร้าวมีฮอร์โมนกระตุ้นการบีบตัวของมดลูก อาจทำให้มีอาการปวดท้องมากขึ้นในสตรีบางรายได้
- ผู้ป่วยโรคไต และโรคหัวใจ ไม่ควรดื่มในปริมาณมากเนื่องจากในน้ำมะพร้าวมีแร่ธาตุโพแทสเซียมสูง ซึ่งส่งผลต่อการทำงานขอกล้ามเนื้อหัวใจได้
- สตรีที่มีประวัติเคยเป็นซีสต์หรือก้อนเนื้อที่เต้านม มดลูก หรือรังไข่ ควรดื่มอย่างระมัดระวัง และหมั่นตรวจสุขภาพอยู่เสมอ
- การดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนเพื่อหวังผลเป็นฮอร์โมนทดแทน ควรดื่มสลับกับเครื่องดื่มชนิดอื่น เช่น น้ำเต้าหู้ ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มเสริมสุขภาพชนิดใดชนิดหนึ่งต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
- ไม่ควรทานยาพร้อมกับน้ำมะพร้าว เพราะอาจทำให้การออกฤทธิ์ของยาลดลง ควรดื่มน้ำมะพร้าวก่อนหรือหลังจากทานยาอย่างน้อยประมาณครึ่งชั่วโมง
- ควรดื่มน้ำมะพร้าวจากลูกโดยตรง หรือซื้อจากร้านที่เชื่อถือได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการเติมน้ำตาลปรุงแต่งเพิ่มเติม
น้ำมะพร้าวอ่อนมีคุณประโยชน์ในเชิง Wellness มากมาย จนคล้ายจะเป็นเครื่องดื่มมหัศจรรย์ หาซื้อง่ายแถมยังรสชาติดี และราคาไม่แพง แต่อย่างไรก็ตามอย่าดื่มเพลินจนเกินไปนะคะ ถึงอย่างไรในน้ำมะพร้าวก็มีน้ำตาล หากดื่มเกิน 1 ลูกต่อวัน อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น หรือสะสมจนเกิดโรคอ้วนได้ค่ะ
Reference:
https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/363
http://rdo.psu.ac.th/th/index.php/recommend/723-menopause
http://nutrition.anamai.moph.go.th/images/file/fruit_nutritioin3.pdf
USDA Nutrient database