ค้นหา
ปิดช่องค้นหานี้
น้ำหนักไม่ลด

น้ำหนักไม่ลด สาเหตุแท้จริงอาจเพราะฮอร์โมนไม่สมดุล

ฮอร์โมน คือสารเคมีที่ร่างกายใช้สื่อสารกัน เพื่อควบคุมสมดุลร่างกายในทุกระบบ รวมทั้งระบบเผาผลาญด้วย ปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งของโรคอ้วนที่เราทราบกันดีก็คือ การเสียสมดุลฮอร์โมน (Hormone Imbalance) ที่ส่งผลให้หลายคน น้ำหนักไม่ลด

ฮอร์โมนเกือบทุกชนิดในร่างกาย มีผลกับระบบเผาผลาญและความอ้วนแทบทั้งนั้น การเสียสมดุลฮอร์โมน ไม่ว่าจะมากเกินไปหรือน้อยเกินไป อาจเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมส่วนหนึ่ง ร่วมกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตอีกส่วนหนึ่ง เช่น ความเครียดเรื้อรัง การอดนอน การเสียสมดุลสารอาหารและวิตามิน การอักเสบติดเชื้อ หรือแม้แต่สารพิษสะสมจากสิ่งแวดล้อม ก็ล้วนส่งผลถึงการเผาผลาญ การใช้พลังงาน ความหิว ความอิ่ม ความอยากอาหาร การสะสมไขมันทั้งในช่องท้อง (Visceral Fat) และนอกช่องท้อง ซึ่งนำไปสู่ความอ้วนได้ ในทางกลับกัน ความอ้วนเองก็เป็นสาเหตุให้ฮอร์โมนเสียสมดุลได้เช่นกัน (Vicious Cycle) ทำให้หลายคน น้ำหนักไม่ลด สักที

น้ำหนักไม่ลด

เชื่อหรือไม่ในยุคปัจจุบันเราพบโรคอ้วนในเด็กเพิ่มขึ้น นอกจากพันธุกรรมและพฤติกรรมแล้วยังมีงานวิจัยใหม่ๆ พบว่า สารเคมีปนเปื้อน โดยเฉพาะสารพาทาเลต (Phthalates) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้กันมากในผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทพีวีซี พลาสติก โฟม ล้วนแต่เป็นสารก่อโรคอ้วน (Obesogens) โดยเฉพาะในเด็ก เนื่องจากไปกระตุ้นการอักเสบ รบกวนสมดุลกรดไขมัน ทำให้เกิดการสะสมไขมันเพิ่มมากขึ้น

สำหรับในวัยทำงาน ความเครียดจากงานที่หนัก การพักผ่อนน้อย ตลอดจนการอดนอนติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ ในช่วงแรกๆ บางคนผอมลง บางคนอ้วนขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการตอบสนองของระบบเผาผลาญที่แตกต่างกันทางพันธุกรรม (SNPs) และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ร่างกายเกิดการปรับตัวเพื่อรับมือและต่อสู้กับความเครียดทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ในช่วงแรกระบบการเผาผลาญของร่างกายดูจะสูงขึ้น แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปร่างกายจะค่อยๆ ปรับตัวกับความเครียดเรื้อรังในที่สุด ระยะยาวกลไกลการปรับตัวของร่างกายอาจชดเชยไม่ทัน จนเกิดภาวะที่เรียกว่า ต่อมหมวกไตล้า (Adrenal Fatigue) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของความอ้วนในที่สุด

น้ำหนักไม่ลด

พอผู้หญิงเริ่มย่างเข้าสู่วัยใกล้หมดประจำเดือน (Perimenopause) นอกจากอาการร้อนวูบวาบ และมวลกระดูกลดลงแล้ว หลายคนก็จะรู้สึกได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวที่คุมได้ยากขึ้น ผลมาจากฮอร์โมนเพศ ทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน แต่ไม่ใช่เฉพาะผู้หญิงนะครับ จริงๆ แล้วผู้ชายก็มีวัยทองนะ (Andropause) เพียงแต่อาจจะเกิดช้ากว่าเล็กน้อย เมื่อระดับเทสโทสเตอโรส (Testosterone) ที่ตกลงก็ส่งผลให้ระดับการเผาผลาญลดลงเช่นกัน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เราควบคุมน้ำหนักได้ยากมากยิ่งขึ้น ทั้งๆ ที่กินเท่าเดิม

อีกปัญหาที่สำคัญ คือ สมดุลฮอร์โมนยังส่งผลต่อการสร้างและการสลายกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะคนที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย พอกล้ามเนื้อหายไปมาก (Sarcopenia) พละกำลังลดลง ลุกนั่ง เดินเหินก็ลำบาก โอกาสลื่นตกหกล้มก็มากขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตแย่ลง

จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงของสมดุลฮอร์โมนในทุกช่วงอายุล้วนส่งผลถึงความยากง่าย ในการควบคุมความอ้วน และการลดน้ำหนักแทบทั้งสิ้น การลดน้ำหนักแบบองค์รวม (Holistic Weight Management) ในยุคปัจจุบันนี้ เริ่มให้ความสำคัญกับการตรวจคัดกรองสมดุลฮอร์โมน ในโปรแกรมลดน้ำหนัก โดยเฉพาะในรายที่ล้มเหลวจากการปรับพฤติกรรมแล้ว คุมอาหารก็แล้ว ออกกำลังกายก็แล้ว ทำยังไงน้ำหนักก็ยังไม่ลง ก็ลองเช็คสมดุลฮอร์โมนดูได้นะครับ

หนังสือ Healthitude สุข(อุดม)คติ
นพ.พิจักษณ์ วงศ์วิศิษฎ์ (หมอบาย)

Share : 

บทความที่เกี่ยวข้อง

ช่วงนี้เราได้ยินความสำคัญของ Vitamin D มาค่อนข้างเยอะ ในแต่ละวันร่างกายเราต้องการวิตามินดีเฉลี่ยอยู่ที่

หลายคนคงเคยได้ยินคุณสมบัติของ “น้ำด่าง” มาก่อนหน้านี้ ว่าลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็ง เก๊าท์

error: Content is protected !!